สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 151 การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นไม่เป็นโมฆะ

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2561 ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารกำหนดสิทธิของผู้ว่าจ้างภายหลังบอกเลิกสัญญาไว้ในข้อ 13 มีสาระสำคัญว่า จำเลยมีสิทธิริบค่าจ้างที่โจทก์ดำเนินการไปแล้วแต่จำเลยยังไม่ชำระ รวมทั้งหลักประกันใดๆ ที่โจทก์มอบไว้แก่จำเลยตามสัญญา เพื่อนำมาหักชำระเป็นค่าปรับ ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการทำงานต่อไป หรือค่าเสียหายในการแก้ไขงานในระยะเวลารับประกันผลงาน ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์การก่อสร้างที่โจทก์นำมาในสถานที่ก่อสร้าง โจทก์ยินยอมให้จำเลยยึดทรัพย์สินเหล่านั้นมาขายเพื่อหักใช้หนี้ใด ๆ ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ทันทีซึ่งเป็นข้อตกลงที่แตกต่างไปจากผลของการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ข้อตกลงที่แตกต่างดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 จึงมีผลใช้บังคับได้ระหว่างโจทก์ จำเลย ผลก็คือโจทก์จะบังคับให้จำเลยยอมรับเอางานที่เสร็จบางส่วนงวดที่ 19 และ 20 อันเป็นการงานที่โจทก์ทำให้แล้วใช้เงินค่าจ้างให้ตามส่วนของงานนั้น ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 391 วรรคสาม ไม่ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7333/2558 โจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ทำหนังสือสัญญาประกันความเสียหายข้อ 2 ระบุว่า "ลูกจ้างให้สัญญาว่าจะทำงานให้แก่นายจ้างอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไป หากทำงานไม่ครบเวลา 1 ปี ฝ่ายลูกจ้างยินดีให้นายจ้างยึดเงินประกันความเสียหายตามข้อ 1" จำเลยที่ 2 ลาออกจากงานเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 การทำสัญญาดังกล่าวที่มีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานอย่างน้อย 1 ปี หากผิดสัญญายินยอมให้ยึดเงินประกันถือเป็นเรื่องผิดสัญญาจ้าง มิใช่เป็นเรื่องการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันหรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ว่า หากจำเลยที่ 2 ทำงานไม่ครบ 1 ปี ยินดีให้โจทก์ยึดเงินประกัน จึงเป็นข้อตกลงที่แตกต่างกับบทบัญญัติข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 โจทก์จึงต้องคืนเงินประกันจำนวน 5,000 บาท ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2556 ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจกระทำในขณะจดทะเบียนหย่า โดยให้นายทะเบียนบันทึกไว้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ๆ กำหนดให้ความตกลงในการแบ่งสินสมรสต้องกระทำต่อหน้านายทะเบียนหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การจะฟังว่ามีข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากพยานทั้งสองฝ่ายประกอบกับพฤติการณ์ของแต่ละคดีไป พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกัน และมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ภายหลังการหย่าจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาเกือบ 5 ปี แม้ไม่มีหลักฐานข้อตกลงแบ่งสินสมรสในขณะจดทะเบียนหย่าแต่ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาโดยให้สินสมรสทั้งสองรายการรวมทั้งหนี้สินตกแก่จำเลย การที่โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างกัน มีผลให้แต่ละฝ่ายได้รับทรัพย์สินและมีภาระหนี้ต้องชำระหนี้สินซึ่งเป็นหนี้ร่วมมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งผิดแผกแตกต่างจาก ป.พ.พ. มาตรา 1533 และมาตรา 1535 บัญญัติไว้ แต่มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลบังคับและไม่ตกเป็นโมฆะ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2548 ตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด ถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยผู้เป็นเจ้าของไม่ต้องบอกกล่าวก่อน และผู้เช่าซื้อยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลัน ถ้าไม่ส่งมอบก็ให้ถือว่าครอบครองไว้โดยมิชอบและยอมใช้ค่าเสียหายที่เจ้าของต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินให้เช่าจนกว่าจะส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของแล้ว แม้ข้อตกลงการเลิกสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจะแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 จึงใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 31 ซึ่งต้องชำระในวันที่ 1 ธันวาคม 2538 สัญญาเช่าซื้อย่อมเป็นอันระงับไปตามข้อกำหนดในสัญญาตั้งแต่วันดังกล่าว แม้ก่อนฟ้องโจทก์จะมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้และมีข้อความกล่าวถึงการถือเอาหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาซ้ำอีก ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างเกินเลยผิดจากความจริงไป ก็ไม่ทำให้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งระงับไปแล้วกลับมีผลบังคับอยู่อีก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2548 โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โดยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้แต่ค่าเสียหายอันเนื่องจากการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม วรรคสี่ และในกรณีนี้ มาตรา 574 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อระบุว่า แม้ในที่สุดต่อไปภายหน้าสัญญาต้องเลิกกัน ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รถยนต์คืน หรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จึงเป็นข้อตกลงที่แตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่ก็มิใช่บทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลใช้บังคับแก่กันได้ ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา 151 และเป็นข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในความเสียหายเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8211/2547 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี) ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับ ส. ที่ว่า หาก ส. ลาออกจากงานก่อน 24 เดือน ส. ขอสละสิทธิไม่รับเงินประกัน แม้จะตกลงกันก่อนที่โจทก์จะจ้าง ส. แต่ก็เป็นข้อตกลงที่แตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 151